top of page

ดีที่สุดสำหรับ "ลูก" หรือ "พ่อแม่"

พ่อแม่ทุกคนย่อม “ปรารถนาดี” และต้องการมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก แต่บางครั้ง "สิ่งที่ดีที่สุด" ที่พ่อแม่พยายามมอบให้กับลูกนั้น...

ดีที่สุดสำหรับ "ลูก" หรือ "พ่อแม่"

พ่อแม่ทุกคนย่อม “ปรารถนาดี” และต้องการมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก แต่บางครั้ง "สิ่งที่ดีที่สุด" ที่พ่อแม่พยายามมอบให้กับลูกนั้น กลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดตามความคาดหวังของพ่อแม่ ซึ่งอาจ “ไม่ใช่” สิ่งที่ “ลูกต้องการ” อย่างแท้จริงก็ได้

ความสัมพันธ์ที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ (Optimum learning relationship) เป็นการสร้างบรรยากาศที่ช่วยให้เด็กสามารถ “เติบโต” และก้าวข้ามพ้น “ข้อจำกัด” ของตนเองได้ โดยอาศัยความสัมพันธ์ที่เป็น “อิสระ” ซึ่งเต็มไปด้วย “ความรัก” อย่างปราศจากเงื่อนไขใด ๆ โดยเฉพาะ “ความคาดหวัง” ของพ่อแม่ โดยการสร้าง "ความสัมพันธ์ที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้" ให้เกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องทำ 3 ขั้นตอน ตามลำดับดังนี้

1. การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)
เป็นการ “สื่อสาร” กับลูก “อย่างแท้จริง” โดยการรับฟังถึงสิ่งที่ลูกต้องการจะบอกด้วย “หัวใจที่ไม่คาดหวัง” เพียงแค่พ่อแม่วางอย่างอื่นลงก่อน และรับฟังลูกด้วยความตั้งใจ สัมผัสถึงอารมณ์และความรู้สึกของลูกอย่างลึกซึ้ง โดยไม่มีการตัดสิน ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการตีกรอบขอบเขตหรือข้อจำกัดใด ๆ

2. การน้อมใจใคร่ครวญ (Contemplation)
เมื่อรับฟังแล้ว ให้พ่อแม่ใช้วิธี “เข้าไปนั่งในใจลูก” โดยให้ลองจินตนาการว่า “ถ้าเป็นลูก เราอยากจะบอกอะไร เราต้องการอะไรกันแน่” ขอให้ระลึกอยู่เสมอว่า สิ่งที่ลูกเล่าให้ฟัง ล้วนเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับเขาทั้งสิ้น ถึงจะเป็นเรื่องเดิม ๆ แต่เขาก็แค่อยากจะแบ่งปันเรื่องราวเหล่านั้นให้พ่อแม่ที่เขารักฟังเท่านั้นเอง

3. การตรึกตรองตามจริง (Meditation)
เป็นการ “ให้คำแนะนำ” หรือสั่งสอนลูกด้วยใจที่ “เป็นกลาง” โดยการรู้เท่าทันถึงอารมณ์ ความคิด ความคาดหวังที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตนเอง แล้วเชื่อมโยงกับความต้องการของลูก โดยสื่อสารให้รับรู้ถึงสิ่งที่พ่อแม่คิด ด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่กดดันหรือบังคับให้ลูกทำตาม เพื่อให้ลูกเป็นผู้ตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง

ดังนั้น พ่อแม่จึงควรรับฟังเพื่อทำความเข้าใจว่าลูกต้องการอะไรกันแน่ และรู้เท่าทันถึงความต้องการและคาดหวังของตนเอง เพื่อสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการอบรมเลี้ยงดูลูกให้เป็นไปอย่างราบรื่น และก่อให้เกิดผลที่ดีที่สุดต่อ การเรียนรู้ และ การเติบโตของลูกในอนาคต…

ที่มา Valle, R., & Mohs, M. (2006). Transpersonal Awareness in Phenomenological Inquiry Philosophy, Reflections, and Recent Research. Alternative Journal of Nursing, 10: 95-113.

bottom of page