3C สร้างความประนีประนอม
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่มีมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเด็กกับพ่อแม่ เด็กกับครูอาจารย์ หรือเด็กกับผู้ใหญ่คนอื่น ๆ...
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่มีมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเด็กกับพ่อแม่ เด็กกับครูอาจารย์ หรือเด็กกับผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ก่อนอื่นเราต้องยอมรับกันก่อนว่า “เด็ก คือ ผลผลิตของผู้ใหญ่” ทั้งการอบรมสั่งสอนและหลักสูตรการศึกษาที่ประเทศไทยมีมาตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันล้วนให้ความสำคัญเรื่องการกล้าแสดงออกทั้งด้านการคิดและการกระทำ บ่อยครั้งที่ความคิดและการกระทำบางอย่างของเด็กก็ไม่ค่อยจะลงรอยกับผู้ใหญ่ เนื่องจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างระหว่างวัยที่ส่งผลให้เด็กมองว่าผู้ใหญ่ล้าสมัย หรือผู้ใหญ่มองว่าเด็กทำอะไรไม่เข้าท่า หรือ การปลูกฝังและส่งเสริมความเป็นพลเมืองให้แก่เด็กตั้งแต่อนุบาลถึงอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหน้าที่ของพลเมือง และการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กทำหน้าที่พลเมืองในชุมชน บวกกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญเกี่ยวกับพลเมืองในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมเด็กในปัจจุบันนี้จึงเคลื่อนไหวและสวมบทบาทการทำหน้าที่พลเมืองกันได้ขนาดนี้ เมื่อเรายอมรับกันได้แล้วว่า ผู้ใหญ่ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยกันทั้งสิ้น ต่อมาก็ต้องมาทำความเข้าใจกันว่า เราทุกคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จะร่วมมือกันหาทางออกให้กับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าวิธีที่จะนำมาใช้ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความประนีประนอม ที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย เพราะไม่มีใครต้องการให้ความรุนแรงและการสูญเสียเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นในที่นี้จึงขอนำเสนอแนวทางการประนีประนอมด้วยหลักการ 3C ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับเด็กทุกช่วงวัยตั้งแต่อนุบาลถึงอุดมศึกษา ดังนี้ 1. ความสำเร็จ (Complete) เป็นขั้นแรกที่ทุกฝ่ายต้องทำร่วมกัน คือ การหันหน้าเข้าหากันแล้วต่างฝ่ายต่างบอกถึงความต้องการที่แท้จริงของตนเอง ในขั้นนี้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องความต้องการของตนเองได้ โดยระบุให้ชัดเจนว่า “เป้าหมายคืออะไร” ซึ่งจะต้องเป็นสิ่งที่เมื่อทำได้สำเร็จแล้วความขัดแย้งที่มีจะต้องจบไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้ยืดเยื้อต่อไปเรื่อย ๆ 2. ความประนีประนอม (Compromise) เมื่อแต่ละฝ่ายได้รับทราบถึงความต้องการของกันและกันแล้ว บางครั้งอาจจะมีปัญหาตามมา คือ เป้าหมายที่ฝ่ายตรงข้ามรับไม่ได้ เพราะบางครั้งข้อเรียกร้องของฝ่ายตรงข้ามอาจจะมากเกินไปที่จะให้ได้ ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องมาเจรจาต่อรองกันว่าจะสามารถ “ยอมให้กัน” ได้มากน้อยแค่ไหนจึงจะเป็นที่น่าพอใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งขั้นตอนนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นขั้นตอนที่ยากและอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะหาจุดลงตัวระหว่างทั้งสองฝ่ายได้ 3. ความร่วมมือ (Cooperate) หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายหาจุดที่ลงตัวและเข้าใจตรงกันแล้ว ต้องร่วมมือและร่วมใจกันทำงานเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ ซึ่งขั้นตอนนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการทำงานในบางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้ระยะเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลให้ต่างฝ่ายต่างเปลี่ยนใจได้ ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องมีความซื่อสัตย์ มั่นคง จริงใจ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน จึงจะทำให้การทำงานสำเร็จและบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ถ้าหากว่าต่างฝ่ายต่างคิดจะเอาเปรียบกัน ไม่รักษาสัญญาที่ให้กันไว้ ก็อาจส่งผลให้การแก้ไขปัญหาครั้งนี้ไม่สำเร็จ และอาจจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งครั้งใหม่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกได้ ที่มา Feist, J., & Feist, G., J. (2009). Theories of personality. Boston: McGraw-Hill. ผู้เขียน รังสิรัศม์ วงศ์อุปราช #GeniusXAlpha #BrainSkillDevelopment