“การโกหก” มีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพูดตรงข้ามความจริง พูดเกินความจริง แต่งเรื่องขึ้นใหม่ ไม่พูดบางอย่างหรือพูดไม่หมด โยนความผิด ฯลฯ

บางครั้ง “การโกหกสีขาว” (White lies) ก็อาจจะจำเป็นสำหรับบางเหตุการณ์ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวย่อมส่งผลเสียไม่มากก็น้อย
เด็กส่วนใหญ่ โกหกเพราะ “กลัว” จึงต้องโกหกเพื่อปกป้องตนเองจากการถูกลงโทษ เด็กบางคน อาจโกหกเพราะต้องการได้รับการยอมรับ ชื่นชม หรือรางวัลที่ตนเองต้องการ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการที่เด็กรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไม่มีใครรัก ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ได้รับความสนใจ ดังนั้นเด็กจึงต้องโกหกเพื่อให้ได้รับสิ่งเหล่านั้นมาเติมเต็มจิตใจ
เมื่อเด็กโกหกบ่อย ๆ จะติดเป็นนิสัยและมีแนวโน้มจะติดตัวไปจนโต ดังนั้นการที่จะป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมการโกหกของเด็กจึงควรเริ่มต้นอย่างเร็วที่สุด โดยพ่อแม่สามารถช่วยเหลือได้ ดังนี้
เมื่อรู้แน่ชัดว่าเด็กทำผิด ไม่ควรเปิดโอกาสให้เด็กโกหก และไม่ควรช่วยเด็กโยนความผิด เช่น ถามว่า “ใครเป็นคนทำ” เพราะคำถามนี้อาจทำให้เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่กำลังต้องการหาคนผิดมาลงโทษ เด็กจะรู้สึกกลัวและปฏิเสธออกไป หรือพ่อแม่บางคนอาจจะปกป้องเด็กมากเกินไป โดยช่วยเด็กแก้ตัวและโยนความผิดไปให้พ้นตัว ซึ่งเป็นการสร้างนิสัยโกหกให้ติดตัวเด็กต่อไปในอนาคต
เมื่อเด็กทำผิด พ่อแม่ควรให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้ เพราะทุกคนย่อมทำผิดได้เสมอ และสิ่งที่ทุกคนต้องการก็คือ “โอกาสที่จะแก้ไข” เมื่อเด็กทำผิด พ่อแม่ไม่ควรโวยวาย ทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ ประจานหรือทำให้เด็กอับอายต่อหน้าคนอื่น พ่อแม่ควรให้โอกาสเด็กได้อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น หากเด็กยังโกหกอยู่ พ่อแม่ก็ค่อย ๆ สอน เพราะการลงโทษจนเด็กเกิดความกลัวจะไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้ และไม่สามารถแก้ไขนิสัยขี้โกหกของเด็กได้เลย
เมื่อเด็กกล้ายอมรับผิด พ่อแม่ก็ควรชื่นชม เพราะการที่เด็กคนหนึ่งจะลุกขึ้นยืนรับผิดของตนเองได้ต้องใช้ความกล้าอย่างมาก หลังจากนั้นจึงสะท้อนให้เด็กได้เห็นว่า การทำผิดและกล้ายอมรับผิดเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่โกหกปิดบังสิ่งที่เกิดขึ้น และพ่อแม่ก็ต้องสอนให้เด็กกล้ายอมรับผลของการกระทำ และแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นให้ถูกต้องด้วยตนเอง เพราะการที่เด็กได้รับผลที่เกิดขึ้นจากความผิดของตนเอง จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และไม่ทำผิดพลาดอีกในครั้งต่อไป
“การโกหก” แก้ได้เพียงรับฟังสิ่งที่ลูกพูด และช่วยกันแก้ไขปัญหา ด้วยความรัก ความใจเย็น และความใส่ใจที่มอบให้ลูกอย่างแท้จริง...
ที่มา
http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20171010123138.pdf
-------------------------------
ตัวตนของลูกเป็นอย่างไร ?
รู้จักลูกได้ง่าย ๆ "เพียง 7 นาที"
#ทำแบบทดสอบวัดบุคลิกภาพ เพื่อค้นพบตัวตนของเด็ก ฟรี
คลิกเลย : https://www.neurogenius.com/alpha