“ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา” (Intelligence Quotient) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า IQ เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา การใช้เหตุผล และการเชื่อมโยง
จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่า เด็กปฐมวัยที่มีแนวโน้มพัฒนาการด้านสติปัญญาดี จะมีลักษณะเป็นเด็กช่างสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว รับรู้และบอกรายละเอียดของสิ่งต่างๆ และเหตุการณ์รอบตัวได้เป็นอย่างดี สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว รู้จักสังเกตุ อยากรู้อยากเห็น ชอบตั้งคำถาม สำรวจ ทดลอง แก้ไขปัญหา มีความคิดเป็นของตัวเอง ความจำดี มีจินตนาการ และต้องการความเป็นอิสระ
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเด็กส่วนใหญ่มีลักษณะดังเช่นที่กล่าวมาข้าวต้น เพราะธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยมีลักษณะที่กระตือรือร้นและสนใจใคร่รู้ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ล้วนเป็นสิ่งใหม่ที่น่าสนใจและตื่นเต้นสำหรับพวกเขา
ด้วยเหตุนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่า เด็กทุกคนสามารถมีพัฒนาการด้านสติปัญญาที่ดีได้ หากได้รับการส่งเสริมอย่างเหมาะสม ดังนั้นพ่อแม่จึงควรสังเกตอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้สามารถเห็นถึงจุดแข็งที่ซ่อนอยู่ของเด็ก และให้การส่งเสริมเพื่อต่อยอดให้ความสามารถด้านนั้นพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ
แนวทางการส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กปฐมวัย มีดังนี้
1. “การลงมือทำ”
เป็นการจัดกิจกรรมให้เด็กได้เป็นผู้ลงมือกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ การมองเห็น การฟังเสียง การสัมผัส การชิมรส และการดมกลิ่น เพราะข้อมูลที่เด็กได้รับผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้าน จะช่วยให้เด็กสามารถจดจำและทำความเข้าใจได้ดีขึ้น เช่น การทัศนศึกษา การทำงานศิลปะ งานสวน ทำอาหาร
2. “การสื่อสาร”
เป็นการส่งเสริมให้ลูกได้มีโอกาสฝึกฝนและพัฒนาทักษะในการใช้ภาษาทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน เพื่อถ่ายทอดข้อมูล และสื่อสารอารมณ์ ความคิด และความรู้สึกทั้งของตนเองและผู้อื่นในระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเล่นบทบาทสมมติ การอ่านหนังสือ การแต่งนิทานจากจินตนาการและเล่าเรื่อง
3. “การเชื่อมโยง”
เป็นการช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ทักษะทางวิชาการที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน เพราะการที่เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริง เด็กจะสามารถเข้าใจและเห็นถึงประโยชน์ของสิ่งนั้น ๆ ซึ่งเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมายที่แท้จริง เช่น การให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับซื้อของในร้านค้า เด็กจะได้เรียนรู้ตั้งแต่การสังเกตตัวเลขและตัวอักษร โดยอ่านรายการและจำนวนของสิ่งที่ต้องซื้อ อ่านราคาของสินค้า การสังเกตรู้ทรง สีสัน พื้นผิว การเปรียบเทียบความเหมือนและต่างของภาชนะสินค้าต่าง ๆ การจำแนกประเภทของผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ การชั่งน้ำหนัก วัดขนาด ตวงปริมาตรของอาหาร การจดจำทิศทางและคำนวณพื้นที่ของรถเข็นหรือตะกร้ากับสิ่งของที่ต้องซื้อ รวมทั้งการเรียนรู้เรื่องลักษณะของเงินและของค่าเงิน การบวกและลบราคาสินค้า เงินที่ต้องจ่าย และเงินทอน
ที่มา
Collaborative for Academic, Social, and Emotional Learning [CASEL]. (2016). Safe and sound: An educational leader’s guide to evidence-based Social and Emotional Learning [SEL] programs. Pennsylvania: Mid-Atlantic Regional Educational Laboratory.
ผู้เขียน
รังสิรัศม์ วงศ์อุปราช
Comments