top of page

ดีที่สุดสำหรับ "ลูก" หรือ "พ่อแม่"

Updated: Oct 30, 2021

พ่อแม่ทุกคนย่อม “ปรารถนาดี” และต้องการมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก แต่บางครั้ง "สิ่งที่ดีที่สุด" ที่พ่อแม่พยายามมอบให้กับลูกนั้น กลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดตามความคาดหวังของพ่อแม่ ซึ่งอาจ “ไม่ใช่” สิ่งที่ “ลูกต้องการ” อย่างแท้จริงก็ได้



ความสัมพันธ์ที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ (Optimum learning relationship) เป็นการสร้างบรรยากาศที่ช่วยให้เด็กสามารถ “เติบโต” และก้าวข้ามพ้น “ข้อจำกัด” ของตนเองได้ โดยอาศัยความสัมพันธ์ที่เป็น “อิสระ” ซึ่งเต็มไปด้วย “ความรัก” อย่างปราศจากเงื่อนไขใด ๆ โดยเฉพาะ “ความคาดหวัง” ของพ่อแม่ การสร้าง "ความสัมพันธ์ที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้" ให้เกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องทำ 3 ขั้นตอน ตามลำดับดังนี้


  • การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) เป็นการ “สื่อสาร” กับลูก “อย่างแท้จริง” โดยการรับฟังถึงสิ่งที่ลูกต้องการจะบอกด้วย “หัวใจที่ไม่คาดหวัง” เพียงแค่พ่อแม่วางอย่างอื่นลงก่อน และรับฟังลูกด้วยความตั้งใจ สัมผัสถึงอารมณ์และความรู้สึกของลูกอย่างลึกซึ้ง โดยไม่มีการตัดสิน ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการตีกรอบขอบเขตหรือข้อจำกัดใด ๆ

  • การน้อมใจใคร่ครวญ (Contemplation) เมื่อรับฟังแล้ว ให้พ่อแม่ใช้วิธี “เข้าไปนั่งในใจลูก” โดยให้ลองจินตนาการว่า “ถ้าเป็นลูก เราอยากจะบอกอะไร เราต้องการอะไรกันแน่” ขอให้ระลึกอยู่เสมอว่า สิ่งที่ลูกเล่าให้ฟัง ล้วนเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับเขาทั้งสิ้น ถึงจะเป็นเรื่องเดิม ๆ แต่เขาก็แค่อยากจะแบ่งปันเรื่องราวเหล่านั้นให้พ่อแม่ที่เขารักฟังเท่านั้นเอง

  • การตรึกตรองตามจริง (Meditation) เป็นการ “ให้คำแนะนำ” หรือสั่งสอนลูกด้วยใจที่ “เป็นกลาง” โดยการรู้เท่าทันถึงอารมณ์ ความคิด ความคาดหวังที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตนเอง แล้วเชื่อมโยงกับความต้องการของลูก โดยสื่อสารให้รับรู้ถึงสิ่งที่พ่อแม่คิด ด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่กดดันหรือบังคับให้ลูกทำตาม เพื่อให้ลูกเป็นผู้ตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง

ดังนั้น พ่อแม่จึงควรรับฟังเพื่อทำความเข้าใจว่าลูกต้องการอะไรกันแน่ และรู้เท่าทันถึงความต้องการและคาดหวังของตนเอง เพื่อสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการอบรมเลี้ยงดูลูกให้เป็นไปอย่างราบรื่น และก่อให้เกิดผลที่ดีที่สุดต่อ การเรียนรู้ และ การเติบโตของลูกในอนาคต…


ที่มา

Valle, R., & Mohs, M. (2006). Transpersonal Awareness in Phenomenological Inquiry Philosophy, Reflections, and Recent Research. Alternative Journal of Nursing, 10: 95-113.


GeniusX ALPHA

สมองอัจฉริยะ ชนะเกมชีวิต

“เพราะเราใช้ความสุข ออกแบบอนาคต”


17 views0 comments
bottom of page