top of page

สเต็มเซลล์แห่งความสุข

ทฤษฎีพัฒนาการตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันส่วนใหญ่นำเสนอไปในทิศทางเดียวกันว่า มนุษย์สามารถพัฒนาอารมณ์สุขให้เกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย...

สเต็มเซลล์แห่งความสุข

ทฤษฎีพัฒนาการตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันส่วนใหญ่นำเสนอไปในทิศทางเดียวกันว่า มนุษย์สามารถพัฒนาอารมณ์สุขให้เกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยเด็กที่ได้รับการหล่อหลอมตัวตนให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม จะยิ่งพัฒนาความสุขสงบได้มากขึ้นในช่วงชีวิตต่อไป พัฒนาการของมนุษย์มีลักษณะเป็นไปตามลำดับ โดยมีทิศทางการพัฒนาจากบนลงล่าง นั่นคือ เด็กทารกจะเริ่มพัฒนากล้ามเนื้อบนใบหน้าได้ก่อนส่วนอื่น เช่น การขยับปากเพื่อกิน การหลับตาเพื่อนอน และการแสดงอารมณ์ต่าง ๆ บนใบหน้า ต่อจากนั้นจึงเริ่มพัฒนากล้ามเนื้อส่วนคอ แขน และขาตามลำดับ นอกจากนี้ทิศทางการพัฒนายังเรียงลำดับจากภายในสู่ภายนอกอีกด้วย การพัฒนาภายในตนที่สมบูรณ์ย่อมนำมาสู่การพัฒนาความสุขและความสำเร็จด้านอื่น ๆ ต่อไป โดย “การรับรู้เกี่ยวกับตนเอง” (Self-concept) เป็นการรู้จักตนเองในด้านต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละช่วงอายุก็จะมีรายละเอียดเรื่องที่ต้องรับรู้ที่ซับซ้อนมากขึ้นตามวัย ทำให้เด็กรู้จักและเข้าใจตนเองได้อย่างละเอียดลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น การพัฒนาภายในตนลำดับต่อมา คือ “การควบคุมตนเอง” (Self-control) เป็นการพัฒนาที่ต่อเนื่องมาจากการรับรู้เกี่ยวกับตนเอง นั่นคือหลังจากที่เด็กรู้จักตนเองแล้วก็จะเกิดการเรียนรู้ต่อไปว่าตนเองสามารถทำอะไรได้บ้าง อะไรที่ควรทำ และอะไรที่ไม่ควรทำ ซึ่งเป็นการพัฒนาเรื่องการควบคุมพฤติกรรมของตนเองให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาตนขั้นต่อไป ลำดับถัดมาคือ “การรับรู้ความสามารถของตนเอง” (Self-esteem) จะได้รับการพัฒนาเมื่อเด็กได้รับการตอบสนองที่ดี เช่น ความรัก การยอมรับ คำชมเชย นั่นคือ เมื่อเด็กแสดงความสามารถแล้วผู้ใหญ่ตอบสนองในทิศทางที่ดี ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง เด็กจะพัฒนาความรู้สึกว่าตนเองมีค่า มีความสามารถ เป็นที่รักและได้รับการยอมรับจากผู้อื่น ส่งผลให้สมองรับรู้ข้อมูลเชิงบวกและหลั่งสารแห่งความสุข (Endorphin) แล้วมีความทรงจำเชิงบวก หลังจากนั้นสมองจะสั่งการให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่ดีต่อไป และจะเกิดขึ้นซ้ำเป็นวงจรในการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต ดังนั้น การพูดเพื่อให้กำลังใจหรือชมเชยเด็กจึงเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กพัฒนาตนเองได้ แต่การชมเชยที่ได้ผลก็ควรระบุถึงพฤติกรรมที่ดีของเด็กอย่างชัดเจน เพื่อให้เด็กรู้ว่าพฤติกรรมอะไรที่ทำแล้วได้รับผลดี และเป็นการกระตุ้นให้เด็กมีพฤติกรรมนั้นอีก เช่น แทนที่จะชมว่า “หนูเก่งจังเลย” ก็ชมด้วยคำว่า “หนูพยายามทำได้ดีมาก” หรือแทนที่จะชมว่า “หนูเป็นเด็กดีจังเลย” ก็ชมด้วยคำว่า “หนูเป็นเด็กที่มีน้ำใจจังเลย” และแทนที่จะชมว่า “หนูระบายสีได้สวยจังเลย” ก็ชมด้วยคำว่า “หนูมีความตั้งใจที่ยอดเยี่ยมไปเลย” ที่มา College Lake County. (2020). Lifespan development: Self-concept and self-esteem. Retrieved from https://courses.lumenlearning.com/suny-lifespandevelopment/chapter/self-concept-and-self-esteem/. University of Minnesota Extention. (2018). Early childhood 1 – 4 years. Retrieved from https://www.brightfutures.org/bf2/pdf/pdf/EC.pdf. ผู้เขียน รังสิรัศม์ วงศ์อุปราช #GeniusXAlpha #BrainSkillDevelopment

bottom of page