Item List
"ปลอบ" หรือ "ปล่อย" ทางเลือกไหนปลอดภัยกับสมองเด็ก
ลูกร้องไห้เอาแต่ใจ เป็นสิ่งที่พ่อแม่หลายคนต้องพบเจอ แต่สิ่งสำคัญคือ แล้วพ่อแม่ต้องรับมืออย่างไรกับเรื่องนี้ ? ควร “ปล่อย” ให้ลูกทำพฤติกรรมเช่นนั้นและหยุดไปเอง หรือ “ปลอบ” เมื่อเด็กร้องไห้งอแงหนักมากขึ้น “จอห์น บี วัตสัน”
นักจิตวิทยาทางพฤติกรรมศาสตร์ เป็นผู้นำทางความคิดว่า… ควรจะ “ปล่อย” ให้เด็กทำพฤติกรรมที่เอาแต่ใจ หรือปล่อยให้ร้องไห้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหยุดเอง เพราะจะทำให้สามารถเติบโตขึ้นไปเป็นเด็กที่สามารถพึ่งตัวเองได้ และเป็นเด็กที่มีอารมณ์ที่มั่นคง จึงทำให้หลายโรงเรียนนำเอาความคิดแบบ “วัตสัน” มาใช้กับเด็กที่ร้องไห้ งอแง ด้วยการปล่อยให้เด็กร้องไปจนกว่าจะหยุดเอง เพื่อไม่สนับสนุนพฤติกรรมที่ไม่มีเหตุผล แต่จากการวิจัยและการศึกษาทฤษฎีที่ตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิงกับทฤษฎีของวัตสัน คือ ทฤษฏีของ “Johm Bowlby” และ “Mary Ainsworth” เขาได้ทำการทดลอง และได้ข้อสรุปว่า… เด็กนั้นต้องการการดูแลปลอบโยนมากกว่าการวางเฉย ปล่อยให้เด็กร้องไห้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหยุดเอง เพราะการปล่อยเด็กทำเช่นนั้น จะส่งผลเสียกับเด็กมากกว่าการปลอบโยน จากการศึกษาอย่างต่อเนื่องและยาวนานตั้งแต่ ยุค 70s พบว่า… การปลอบโยน และการใส่ใจลูกนั้น ส่งผลดีทางด้านพฤติกรรมในระยะยาว เด็กคนนั้นจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ เป็นพ่อแม่ที่มีคุณภาพ และสร้างครอบครัวที่แข็งแรงได้ในอนาคต ดังนั้นเมื่อลูกไม่มีเหตุผล ร้องไห้ หรือเอาแต่ใจ อย่างไรพ่อแม่ก็ "ควรจะปลอบ" และตอบสนองความรู้สึกของเขาทุกครั้ง แล้วจึงค่อยสอนด้วยความใจเย็น เพื่อที่เขาจะได้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และมีความสุขในอนาคตต่อไป... ที่มา
https://www.verywellmind.com/harry-harlow-and-the-nature-of…
https://www.psychologytoday.com/…/20…/dangers-crying-it-out…
https://psychology.jrank.org/pag…/…/John-Broadus-Watson.html GeniusX ALPHA
สมองอัจฉริยะ ชนะเกมชีวิต
“เพราะเราใช้ความสุข ออกแบบอนาคต” #GeniusXALPHA
#BrainSkillDevelopment
#DesignYourLife
10 ทักษะสำคัญที่เด็กยุคนี้ควรมี
เด็กในปัจจุบันควรมีทักษะด้านไหนบ้าง ที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและไปสู่ความสำเร็จได้
วันนี้ GeniusX ALPHA ได้นำ "10 ทักษะสำคัญ ที่เด็กยุคนี้ควรมี" มาฝากทุกท่านกันด้วย มีอะไรบ้างไปดูกัน
1. ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
เป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่มีมาประยุกต์และสร้างเป็นไอเดียใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการมีความคิดหรือจินตนาการในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งแปลกใหม่
2. การสื่อสาร (Communication)
เป็นทักษะที่สำคัญในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทั้งในการทำงานและในชีวิตประจำวัน การมีทักษะในการสื่อสารจะช่วยให้เด็กเป็นทั้งผู้ฟังและผู้พูดที่ดี รวมถึงช่วยสร้างความเข้าใจในการสื่อสารระหว่างผู้พูดและผู้ฟังได้
3. การคิด วิเคราะห์ (Critical thinking)
เป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กเกิดกระบวนการคิดโดยใช้วิจารณญาณหรือการตัดสินอย่างมีเหตุผล รวมทั้งสามารถเชื่อมโยง รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างรอบด้าน
4. ความเป็นผู้นำ (Leadership)
เป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กมีความมั่นใจในการพัฒนาศักยภาพของตนเองและของเพื่อนร่วมทีม เพื่อให้ทุกคนมองเห็นถึงเป้าหมายเดียวกันและนำพาทีมไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ รวมถึงสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นเกิดความพยายามลงมือทำได้
5. การเจรจาต่อรอง (Negotiation)
เป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นในกระบวนการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล เพื่อร่วมกันตัดสินใจและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการแสดงจุดยืนหรือความต้องการของตนเองให้ผู้อื่นรับรู้
6. ทักษะสมอง (Brain Skill)
เป็นทักษะสำคัญที่เด็กยุคนี้ควรจะมี คือการเข้าใจสมอง เข้าใจความคิดของตนเอง เพื่อนำจุดแข็งของตนเองออกมาใช้ และพัฒนาตนเองได้อย่างเหมาะสมและตรงจุด ทำให้สามารถออกแบบอนาคตได้ในแบบของตนเอง
7. กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth mindset)
เป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กรู้จักมองความล้มเหลวหรือข้อผิดพลาดเป็นเรื่องท้าทาย และเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเพื่อให้ตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้นในครั้งต่อไป
8. ความฉลาดด้านสังคม (Social Intelligence)
เป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ ทั้งการเป็นผู้พูดและผู้ฟังที่ดี เข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ยอมรับในความแตกต่างได้ รวมถึงสามารถควบคุมการแสดงออกของตนเองได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์
9. ความฉลาดในการแก้ปัญหา (Adversity Intelligence)
เป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวได้ดีเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา รวมถึงพยายามหาทางแก้ไขปัญหาและสามารถเอาชนะอุปสรรคได้ด้วยตนเองโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค
10. ความฉลาดด้านอารมณ์ (Emotional Intelligence)
เป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กสามารถควบคุมและจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ดี รวมถึงสามารถคาดเดาและเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นได้ด้วย
GeniusX ALPHA
สมองอัจฉริยะ ชนะเกมชีวิต
“เพราะเราใช้ความสุข ออกแบบอนาคต”
3C สร้างความประนีประนอม
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่มีมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเด็กกับพ่อแม่ เด็กกับครูอาจารย์ หรือเด็กกับผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ก่อนอื่นเราต้องยอมรับกันก่อนว่า “เด็ก คือ ผลผลิตของผู้ใหญ่” ทั้งการอบรมสั่งสอนและหลักสูตรการศึกษาที่ประเทศไทยมีมาตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันล้วนให้ความสำคัญเรื่องการกล้าแสดงออกทั้งด้านการคิดและการกระทำ บ่อยครั้งที่ความคิดและการกระทำบางอย่างของเด็กก็ไม่ค่อยจะลงรอยกับผู้ใหญ่ เนื่องจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างระหว่างวัยที่ส่งผลให้เด็กมองว่าผู้ใหญ่ล้าสมัย หรือผู้ใหญ่มองว่าเด็กทำอะไรไม่เข้าท่า หรือ การปลูกฝังและส่งเสริมความเป็นพลเมืองให้แก่เด็กตั้งแต่อนุบาลถึงอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหน้าที่ของพลเมือง และการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กทำหน้าที่พลเมืองในชุมชน บวกกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญเกี่ยวกับพลเมืองในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมเด็กในปัจจุบันนี้จึงเคลื่อนไหวและสวมบทบาทการทำหน้าที่พลเมืองกันได้ขนาดนี้ เมื่อเรายอมรับกันได้แล้วว่า ผู้ใหญ่ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยกันทั้งสิ้น ต่อมาก็ต้องมาทำความเข้าใจกันว่า เราทุกคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จะร่วมมือกันหาทางออกให้กับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าวิธีที่จะนำมาใช้ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความประนีประนอม ที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย เพราะไม่มีใครต้องการให้ความรุนแรงและการสูญเสียเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นในที่นี้จึงขอนำเสนอแนวทางการประนีประนอมด้วยหลักการ 3C ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับเด็กทุกช่วงวัยตั้งแต่อนุบาลถึงอุดมศึกษา ดังนี้ 1. ความสำเร็จ (Complete) เป็นขั้นแรกที่ทุกฝ่ายต้องทำร่วมกัน คือ การหันหน้าเข้าหากันแล้วต่างฝ่ายต่างบอกถึงความต้องการที่แท้จริงของตนเอง ในขั้นนี้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องความต้องการของตนเองได้ โดยระบุให้ชัดเจนว่า “เป้าหมายคืออะไร” ซึ่งจะต้องเป็นสิ่งที่เมื่อทำได้สำเร็จแล้วความขัดแย้งที่มีจะต้องจบไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้ยืดเยื้อต่อไปเรื่อย ๆ 2. ความประนีประนอม (Compromise) เมื่อแต่ละฝ่ายได้รับทราบถึงความต้องการของกันและกันแล้ว บางครั้งอาจจะมีปัญหาตามมา คือ เป้าหมายที่ฝ่ายตรงข้ามรับไม่ได้ เพราะบางครั้งข้อเรียกร้องของฝ่ายตรงข้ามอาจจะมากเกินไปที่จะให้ได้ ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องมาเจรจาต่อรองกันว่าจะสามารถ “ยอมให้กัน” ได้มากน้อยแค่ไหนจึงจะเป็นที่น่าพอใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งขั้นตอนนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นขั้นตอนที่ยากและอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะหาจุดลงตัวระหว่างทั้งสองฝ่ายได้ 3. ความร่วมมือ (Cooperate) หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายหาจุดที่ลงตัวและเข้าใจตรงกันแล้ว ต้องร่วมมือและร่วมใจกันทำงานเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ ซึ่งขั้นตอนนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการทำงานในบางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้ระยะเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลให้ต่างฝ่ายต่างเปลี่ยนใจได้ ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องมีความซื่อสัตย์ มั่นคง จริงใจ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน จึงจะทำให้การทำงานสำเร็จและบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ถ้าหากว่าต่างฝ่ายต่างคิดจะเอาเปรียบกัน ไม่รักษาสัญญาที่ให้กันไว้ ก็อาจส่งผลให้การแก้ไขปัญหาครั้งนี้ไม่สำเร็จ และอาจจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งครั้งใหม่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกได้ ที่มา Feist, J., & Feist, G., J. (2009). Theories of personality. Boston: McGraw-Hill. ผู้เขียน รังสิรัศม์ วงศ์อุปราช #GeniusXAlpha #BrainSkillDevelopment
SEL (Social and Emotional Learning) ประตูแห่งความสำเร็จของลูก
“SEL ประตูแห่งความสำเร็จ” การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Social and emotional learning หรือ SEL) เป็นกระบวนการในการเรียนรู้ที่อาศัยการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะสำหรับเด็กวัยอนุบาลและประถมศึกษา เนื่องจากเด็กวัยนี้กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาทักษะความสามารถด้านอารมณ์และสังคมในระดับที่สูงขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามระเบียบข้อตกลง การปรับตัวเข้ากับสังคม การยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง การช่วยเหลือและร่วมมือทำงาน และการมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองที่ได้รับมอบหมาย
องค์กรส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (Collaborative for Academic, Social, and Emotional Learning; CASEL) เป็นองค์กรหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมโดยตรง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์
ระบุว่า กระบวนการในการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมโดยอาศัยการมีปฏิสัมพันธ์ของบริบททางสังคมรอบตัวเด็ก เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างเจตคติที่ดี พฤติกรรมเชิงบวก และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน อีกทั้งยังสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาทางพฤติกรรมของเด็กได้อีกด้วย
ดังนั้นหากพ่อแม่ ครู และผู้ที่เกี่ยวข้องรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมของเด็กก็จะสามารถให้การสนับสนุนส่งเสริมกระบวนการดังกล่าวให้พัฒนาไปอย่างเหมาะสม ช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะความสามารถด้านอารมณ์และสังคมไปสู่ระดับที่สูงขึ้น มีความสุขและประสบความสำเร็จในอนาคตได้ การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมสำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี มีดังนี้
.
1) การตระหนักรู้ตนเองและสังคม
เป็นการทำความรู้จักและเข้าใจตนเอง รวมถึงผู้อื่น ในด้านข้อดี ความสามารถ และอารมณ์ได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งปฏิบัติต่อผู้อื่นได้อย่างสุภาพ
2) การจัดการตนเอง
เป็นการจัดการอารมณ์เชิงลบของตนเอง และแสดงออกต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
3) ทักษะสัมพันธภาพ
เป็นการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วยการให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง
4) การตัดสินใจอย่างรับผิดชอบ
เป็นการทำความเข้าใจปัญหา แก้ไขปัญหาด้วยการคำนึงถึงความปลอดภัย และประเมินผลของการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล GeniusX ALPHA คือ แบบทดสอบบุคลิกภาพสำหรับเด็ก ที่ผสมผสานหลักการทาง "Neuroscience" (ประสาทวิทยาศาสตร์) ร่วมกับ "Psychology" (จิตวิทยา) โดยแบ่งเด็กเป็น 6 ประเภท จากระบบความคิด และความโดดเด่นของพฤติกรรมเฉพาะบุคคล แบบทดสอบ "GeniusX ALPHA" นี้ ช่วยให้เด็ก ๆ รู้จักตัวตนของตนเองมากขึ้น รู้จุดเด่น จุดด้อย รู้ความถนัดหรือความสนใจ นำไปสู่การพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ต่อไปได้อย่างตรงเป้าหมาย แม่นยำ ชัดเจน คุณพ่อคุณแม่ควรมีส่วนร่วมในการทำแบบทดสอบไปด้วยกัน GeniusX ALPHA
สมองอัจฉริยะ ชนะเกมชีวิต
“เพราะเราใช้ความสุข ออกแบบอนาคต”
ติดต่อขอรายละเอียด หรือสอบถามข้อมูล Inbox : http://m.me/geniusxalpha
Line : @geniusxalpha
Tel. : 088-555-2466
.
#GeniusXALPHA
#BrainSkillDevelopment
#DesignYourLife
ควร "ลงโทษ" อย่างไร เมื่อลูกทำผิด
พ่อแม่โดยส่วนใหญ่มักจะ “ดุด่า หรือ ตี” เมื่อลูกทำผิด แต่รู้หรือไม่ว่าการลงโทษแบบนั้น เป็นการทำร้ายร่างกายและจิตใจของลูกให้เกิดความเจ็บปวด ซึ่งไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง และพ่อแม่มักจะลงโทษลูกด้วยความโมโห ยิ่งโมโหมากเท่าใดก็จะยิ่งลงโทษรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจากการวิจัยพบว่า การลงโทษลูกอย่างรุนแรงส่งผลกระทบต่อ “พัฒนาการ” และ “การเรียนรู้” ของลูกในระยะยาว ก่อให้เกิดปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว ปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายเมื่อลูกโตขึ้น พ่อแม่หลายคนก็มักจะอ้างว่า “การลงโทษ” เป็นสิ่งที่ “สมควรทำ” เพราะจะทำให้ลูกกลัว เข็ด และไม่กล้าที่จะทำผิดอีก แต่ลองหยุดคิดสักนิดก่อนว่า "เราลงโทษลูกเพื่ออะไร" หากการลงโทษมีไว้เพื่อ "สั่งสอนเมื่อลูกทำผิด" ลองมาคิดต่อกันอีกสักนิดว่า มีวิธีการสั่งสอนแบบที่ไม่สร้างความเจ็บปวดให้กับลูกหรือไม่ ? เป็นวิธีที่นุ่มนวล แต่ได้ผลที่ดีกว่า และไม่ก่อให้เกิดผลเสียด้านอื่นด้วย ซึ่ง GeniusX ALPHA จะมานำเสนอขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้ ควบคุมอารมณ์ของตนเองก่อน
เมื่อพบว่าลูกทำผิด พ่อแม่ต้องควบคุมอารมณ์ของตนเองก่อน เพราะถ้าพ่อแม่แสดงความโกรธ โมโห โวยวาย นอกจากจะเป็นการทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่แล้ว ยังอาจทำให้พ่อแม่พลั้งพลาดลงโทษลูกอย่างรุนแรงโดยไม่ตั้งใจก็ได้ พูดคุยกับลูกอย่างใจเย็น
เมื่อควบคุมอารมณ์ของตนเองได้แล้ว พ่อแม่จะต้องพูดคุยกับลูกอย่างใจเย็น ถึงสาเหตุของปัญหานั้น เพราะหลาย ๆ เหตุการณ์พ่อแม่ก็ไม่สามารถทราบได้เลยว่าความจริงคืออะไร ซึ่งก็จะทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ต้นตอได้ และใช้วิธี “การสอนด้วยเหตุผล” แทน “การดุด่า” ที่ทำร้ายจิตใจ กำหนดบทลงโทษ
เมื่อทราบแล้วว่าลูกทำผิดจริง ๆ ก็ต้องกำหนดบทลงโทษ ซึ่งเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างพ่อแม่และลูกว่าจะชดใช้ความผิดนั้นอย่างไร โดยบทลงโทษนั้นต้องมีลักษณะที่ “ทำความดีชดใช้ความผิด” แทน “การตี” ที่ทำร้ายร่างกาย เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าพฤติกรรมใดที่ต้องแก้ไข และพฤติกรรมใดที่ควรทำ ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ควรทำจึงไม่ใช่ “การลงโทษที่รุนแรง” แต่เป็นการสอนให้ลูกรู้ว่าต้องแก้ไขอะไร ทำให้ลูกได้เรียนรู้ และเติบโตไปอย่างมีความสุข เด็กทุกคนควรได้รับการอบรมสั่งสอนด้วย “ความรัก” ไม่ใช่ “ความเจ็บปวด” ตัวตนของลูกเป็นอย่างไร ? รู้จักลูกได้ง่าย ๆ "เพียง 7 นาที" ทำแบบทดสอบวัดบุคลิกภาพ เพื่อค้นพบตัวตนของเด็ก ฟรี คลิกเลย : https://www.neurogenius.com/alpha GeniusX ALPHA สมองอัจฉริยะ ชนะเกมชีวิต “เพราะเราใช้ความสุข ออกแบบอนาคต” #GeniusXALPHA #BrainSkillDevelopment #DesignYourLife
ดีที่สุดสำหรับ "ลูก" หรือ "พ่อแม่"
พ่อแม่ทุกคนย่อม “ปรารถนาดี” และต้องการมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก แต่บางครั้ง "สิ่งที่ดีที่สุด" ที่พ่อแม่พยายามมอบให้กับลูกนั้น กลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดตามความคาดหวังของพ่อแม่ ซึ่งอาจ “ไม่ใช่” สิ่งที่ “ลูกต้องการ” อย่างแท้จริงก็ได้
ความสัมพันธ์ที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ (Optimum learning relationship) เป็นการสร้างบรรยากาศที่ช่วยให้เด็กสามารถ “เติบโต” และก้าวข้ามพ้น “ข้อจำกัด” ของตนเองได้ โดยอาศัยความสัมพันธ์ที่เป็น “อิสระ” ซึ่งเต็มไปด้วย “ความรัก” อย่างปราศจากเงื่อนไขใด ๆ โดยเฉพาะ “ความคาดหวัง” ของพ่อแม่ โดยการสร้าง "ความสัมพันธ์ที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้" ให้เกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องทำ 3 ขั้นตอน ตามลำดับดังนี้
1. การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)
เป็นการ “สื่อสาร” กับลูก “อย่างแท้จริง” โดยการรับฟังถึงสิ่งที่ลูกต้องการจะบอกด้วย “หัวใจที่ไม่คาดหวัง” เพียงแค่พ่อแม่วางอย่างอื่นลงก่อน และรับฟังลูกด้วยความตั้งใจ สัมผัสถึงอารมณ์และความรู้สึกของลูกอย่างลึกซึ้ง โดยไม่มีการตัดสิน ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการตีกรอบขอบเขตหรือข้อจำกัดใด ๆ
2. การน้อมใจใคร่ครวญ (Contemplation)
เมื่อรับฟังแล้ว ให้พ่อแม่ใช้วิธี “เข้าไปนั่งในใจลูก” โดยให้ลองจินตนาการว่า “ถ้าเป็นลูก เราอยากจะบอกอะไร เราต้องการอะไรกันแน่” ขอให้ระลึกอยู่เสมอว่า สิ่งที่ลูกเล่าให้ฟัง ล้วนเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับเขาทั้งสิ้น ถึงจะเป็นเรื่องเดิม ๆ แต่เขาก็แค่อยากจะแบ่งปันเรื่องราวเหล่านั้นให้พ่อแม่ที่เขารักฟังเท่านั้นเอง
3. การตรึกตรองตามจริง (Meditation)
เป็นการ “ให้คำแนะนำ” หรือสั่งสอนลูกด้วยใจที่ “เป็นกลาง” โดยการรู้เท่าทันถึงอารมณ์ ความคิด ความคาดหวังที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตนเอง แล้วเชื่อมโยงกับความต้องการของลูก โดยสื่อสารให้รับรู้ถึงสิ่งที่พ่อแม่คิด ด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่กดดันหรือบังคับให้ลูกทำตาม เพื่อให้ลูกเป็นผู้ตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง
ดังนั้น พ่อแม่จึงควรรับฟังเพื่อทำความเข้าใจว่าลูกต้องการอะไรกันแน่ และรู้เท่าทันถึงความต้องการและคาดหวังของตนเอง เพื่อสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการอบรมเลี้ยงดูลูกให้เป็นไปอย่างราบรื่น และก่อให้เกิดผลที่ดีที่สุดต่อ การเรียนรู้ และ การเติบโตของลูกในอนาคต…
ที่มา Valle, R., & Mohs, M. (2006). Transpersonal Awareness in Phenomenological Inquiry Philosophy, Reflections, and Recent Research. Alternative Journal of Nursing, 10: 95-113.
ต้องให้ลูกเรียนแค่ไหน จึงจะ "ดีพอ" และ "ดีพอ"
ทุกคนอาจเคยได้ยินกันดีว่า “วิชา คือ อาวุธ” พ่อแม่จึงอยากให้ลูกได้เรียนมาก ๆ เพื่อให้มีความรู้ติดตัว เมื่อลูกโตขึ้นในวันข้างหน้าจะได้มีความเป็นอยู่ที่สบาย และมีชีวิตที่มีความสุข แต่ทราบหรือไม่ว่า เรียนแค่ไหนจึงจะถือว่าพอดีสำหรับเด็ก คำตอบคือ “ไม่มีคำตอบ” เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทั้งด้านอุปนิสัย บุคลิก รูปแบบการเรียนรู้ ความชอบ ความสามารถ ความถนัด ฯลฯ
การที่เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน จึงทำให้พ่อแม่แต่ละคนต้องค้นหาคำตอบกันเอาเองว่าแค่ไหนจึงจะถือว่า “พอดี” สำหรับลูก ซึ่ง GeniusX ALPHA จะมาเสนอแนวทางง่าย ๆ เพื่อช่วยให้พ่อแม่ค้นหาคำตอบได้ ดังนี้
1. ดูแนวทางการสอนที่โรงเรียน
เป็นการศึกษาหาข้อมูลว่า โรงเรียนที่ลูกไปเรียน สอนเรื่องอะไรบ้างในแต่ละวัน ซึ่งพ่อแม่สามารถหาคำตอบได้จากการสอบถามจากตัวลูกเอง สอบถามจากครูประจำชั้น หรือฝ่ายวิชาการในโรงเรียนก็ได้
เมื่อได้รับทราบข้อมูลส่วนนี้จะทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าลูก “ขาด” อะไร และควร “เสริม” อะไร เพื่อให้ครอบคลุมการเรียนรู้และพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา
2. ให้ลูกเรียนพิเศษเพิ่ม
เมื่อพ่อแม่ได้ทราบแล้วว่าอะไรที่โรงเรียนสอน และไม่ได้สอน และคิดว่าควรเสริมอะไรให้ลูกเพิ่มเติม ให้พ่อแม่เขียนเป็นรายการออกมา แล้วพิจารณาว่าอะไรที่จำเป็นให้ลูกไปเรียนพิเศษเสริมจริง ๆ ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นการป้องกันการเรียนซ้ำซ้อนในห้องเรียน ที่อาจทำให้ลูกเกิดความเหนื่อยล้าหรือเบื่อหน่ายได้
3. พูดคุยกับลูกก่อนเรียน
เมื่อพ่อแม่ทราบแล้วว่าควรให้ลูกเรียนพิเศษเสริมอะไร ก็ต้องนำมาพูดคุยกับลูกด้วย โดยไม่ใช้วิธีเผด็จการตัดสินใจแทนลูก ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องสอบถามความสมัครใจของลูกด้วยว่าต้องการเรียนหรือไม่ หากลูกชอบก็ให้เรียนได้เลย แต่ถ้าลูกไม่ชอบก็ไม่ควรไปบังคับ เพราะจะทำให้ลูกเกิดความเบื่อหน่าย และเกลียดกลัวการเรียนรู้ไปเลยก็ได้ หากเป็นเช่นนั้นแล้วจะเกิดผลเสียตามมาอีกมากมาย
เด็กแต่ละคนมีความชอบ ความถนัด และความสามารถที่แตกต่างกัน ดังนั้น วิธีการเรียนรู้ ก็จะแตกต่างกันไปด้วย หาก เข้าใจตัวตนของลูก ก็จะสามารถส่งเสริมเพิ่มความรู้ให้กับลูกได้อย่างถูกทาง มีประสิทธิภาพ และมีความสุขกันทั้งสองฝ่าย ทำให้ลูกสามารถเก็บเกี่ยวความรู้ได้อย่างเต็มที่ ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป และสนุกกับการเรียนรู้ จนกลายเป็นเด็กที่รักในการเรียนรู้ในที่สุด…
ทำอย่างไร เมื่อ "ลูกไม่กล้าแสดงออก"
“ความกล้าแสดงออก” เป็นหนึ่งสิ่งที่สำคัญสำหรับเด็กในยุคนี้ เพราะเด็กที่มีความกล้าแสดงออก มักจะมองเห็นโอกาสต่าง ๆ ที่เข้ามา และกล้าลองทำในสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ คอยสั่งสมประสบการณ์ และส่งผลให้ประสบความสำเร็จในอนาคตได้
แต่อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า เด็กแต่ละคนนั้นมี "ลักษณะนิสัย" หรือ "ระบบความคิด" ที่แตกต่างกันไป เด็กบางคนอาจไม่ถนัดในเรื่องการแสดงออก แต่อาจชอบที่จะใช้ความคิดอยู่กับตัวเอง ทำอะไรคนเดียว ไม่ชอบเป็นจุดสนใจ หรือมีความถนัดในด้านอื่นมากกว่า อย่างไรก็ตาม หากพบว่าลูกมีพฤติกรรมที่ไม่มั่นใจอยู่บ่อยครั้ง หรือรวมถึงไม่สามารถปรับตัวเมื่อเจอสถานการณ์ใหม่ ๆ ก็อาจเกิดปัญหาการเข้าสังคมในอนาคตได้ ความกล้าแสดงออก สามารถฝึกได้ ซึ่งพ่อแม่สามารถเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกได้ ดังนี้
1. ให้ลูกได้ลองทำในสิ่งที่ชอบ
เด็กแต่ละคนมี “ความชอบ” หรือ “ความถนัด” ที่แตกต่างกัน พ่อแม่ควรให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่เขาชอบ ส่งเสริมทักษะที่เป็นประโยชน์ และคอยให้กำลังใจเมื่อลูกทำสิ่งต่าง ๆ เมื่อลูกได้ทำในสิ่งที่ชอบอยู่เป็นประจำ เขาก็จะสามารถทำในสิ่งนั้นได้ดี และส่งผลให้มั่นใจในตัวเองมากขึ้น
2. ชื่นชมเมื่อลูกกล้าแสดงออก
เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่มีความกล้าแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเลือก หรือเริ่มทำอะไรบางอย่าง รวมถึงเมื่อลูกแสดงความสามารถต่าง ๆ พ่อแม่ควรที่จะชื่นชมและสอน เพื่อให้ลูกเห็นข้อดีของการกล้าแสดงออก และให้เขาทำพฤติกรรมเชิงบวกเช่นนั้นอีก
3. พาลูกออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน
เมื่อมีเวลาว่าง พ่อแม่ควรพาลูกออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านบ้าง ให้ลูกได้พบเจอผู้คนใหม่ ๆ พบเจอเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ หรือให้ลูกทำกิจกรรมกับเพื่อนในวัยเดียวกัน เพื่อให้เขาสามารถเรียนรู้การปรับตัวได้ และรู้จักการเข้ากลุ่ม ซึ่งจะสามารถเพิ่มความมั่นใจ และความกล้าแสดงออกให้กับลูกได้
กล่าวได้ว่า ความกล้าแสดงออก นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้ ถึงแม้ลูกจะไม่มีความกล้าแสดงออกมากนัก แต่อย่างไรก็ควรจะมีความกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม ซึ่งพ่อแม่สามารถฝึกให้กับลูกได้ เพียงเข้าใจลูก และส่งเสริมให้เหมาะกับสิ่งที่เขาเป็น เพื่อให้สามารถ “ปรับตัว” และ “ประสบความสำเร็จ” ในอนาคตได้
ทำอย่างไร เมื่อลูก "ไม่กล้าทำอะไรด้วยตัวเอง"
การที่เด็กจะ “เติบโต” ได้อย่าง “มีประสิทธิภาพ” ต้องอาศัยการฝึกทักษะหรือความสามารถในหลายด้าน ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่สำคัญคือ “ความเป็นผู้นำ” หรือการมีภาวะผู้นำ (Leadership characteristics)
เป็นความสามารถในการคิด วางแผน และโน้มน้าวให้ผู้อื่นทำตามหรือให้ความร่วมมือในการทำงาน ถึงแม้ว่าความสามารถในด้านนี้จะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ยังมีเด็กหลายคนที่ยังไม่ค่อยมีความสามารถในด้านนี้มากนัก แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติที่เด็กแต่ละคนจะมี “ความเป็นผู้นำ” ที่มากน้อยแตกต่างกันไป ตามระบบความคิด และลักษณะนิสัย ของเด็กแต่ละคน เด็กบางคนอาจไม่มีความเป็นผู้นำมากนัก แต่เขาก็มีความสามารถในด้านอื่นที่โดดเด่นไม่แพ้กัน แต่หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการเพิ่มความสามารถในด้านการเป็นผู้นำให้กับลูก สิ่งนี้ก็สามารถฝึกฝนได้ ซึ่งเด็กที่มีภาวะผู้นำ จะมีคุณลักษณะในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. ด้านการเข้าใจตนเอง
เป็นการ “ควบคุมการทำงาน” ของตนเองให้สำเร็จ “ตามเป้าหมาย” ที่ตั้งไว้ ซึ่งพ่อแม่สามารถช่วยส่งเสริมได้ เช่น การมอบหมายงานบ้านให้เด็ก เพื่อให้เด็กรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองที่ต้องทำ และยังควรให้แรงเสริมทางบวกกับเด็กด้วย เช่น การชื่นชมหรือให้รางวัล เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง
2. ด้านการใช้ความคิด
เป็นการ “วางแผนการทำงาน” และตัดสินใจ “แก้ไขปัญหา” ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งพ่อแม่สามารถช่วยส่งเสริมได้ เช่น ให้เด็กเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของตนเองที่พบเจอในแต่ละวัน โดยชวนให้เด็กพูดถึงปัญหาที่พบว่าคืออะไร และมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง ซึ่งควรเป็นวิธีที่เด็กสามารถทำได้และมีความปลอดภัยต่อตนเองและผู้อื่น
3. ด้านการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น
เป็นการ “ติดต่อสื่อสาร” กับผู้อื่นอย่างเข้าใจ และ “มีความเห็นอกเห็นใจ” ผู้อื่น ซึ่งพ่อแม่สามารถช่วยส่งเสริมได้ เช่น การเป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อสอนเรื่องการมีน้ำใจให้ความช่วยเหลือและให้กำลังใจแก่ผู้อื่น รวมทั้งฝึกฝนให้เด็กรับฟังและตอบคำถามด้วยความตั้งใจ และพูดอธิบายถึงเรื่องราวต่าง ๆ ให้ผู้อื่นฟังอย่างเข้าใจ
4. ด้านการทำงานร่วมกัน
เป็นการ “ขอและให้ความร่วมมือ” กับผู้อื่น เพื่อสามารถ “ทำงานร่วมกัน” ได้อย่างราบรื่น ซึ่งพ่อแม่สามารถช่วยส่งเสริมได้ เช่น ให้เด็กช่วยทำงานตามความสามารถ ฝึกให้เด็กขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นในสถานการณ์ที่เป็นอันตราย รวมทั้งพาไปเล่นกับเพื่อนใหม่ เพื่อส่งเสริมการปรับตัว และเป็นทั้งผู้นำและผู้ตามในการทำกิจกรรมกลุ่ม
เพราะฉะนั้นความเป็นผู้นำ สามารถฝึกได้เพียงเข้าใจในสิ่งที่ลูกเป็น และส่งเสริมให้กับลูกอย่างถูกจุด
เขาก็จะสามารถเติบโตได้อย่างประสบความสำเร็จและมีความสุขได้ในอนาคต… “เพราะเด็กแต่ละคน มีความสามารถเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน”
ที่มา
https://www.iriss.org.uk/.../esss.../distributed-leadership
ทำอย่างไรให้เด็กฉลาด
“ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา” (Intelligence Quotient) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า IQ เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหา การใช้เหตุผล และการเชื่อมโยง จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่า เด็กปฐมวัยที่มีแนวโน้มพัฒนาการด้านสติปัญญาดี จะมีลักษณะเป็นเด็กช่างสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว รับรู้และบอกรายละเอียดของสิ่งต่างๆ และเหตุการณ์รอบตัวได้เป็นอย่างดี สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว รู้จักสังเกตุ อยากรู้อยากเห็น ชอบตั้งคำถาม สำรวจ ทดลอง แก้ไขปัญหา มีความคิดเป็นของตัวเอง ความจำดี มีจินตนาการ และต้องการความเป็นอิสระ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเด็กส่วนใหญ่มีลักษณะดังเช่นที่กล่าวมาข้าวต้น เพราะธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยมีลักษณะที่กระตือรือร้นและสนใจใคร่รู้ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ล้วนเป็นสิ่งใหม่ที่น่าสนใจและตื่นเต้นสำหรับพวกเขา ด้วยเหตุนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่า เด็กทุกคนสามารถมีพัฒนาการด้านสติปัญญาที่ดีได้ หากได้รับการส่งเสริมอย่างเหมาะสม ดังนั้นพ่อแม่จึงควรสังเกตอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้สามารถเห็นถึงจุดแข็งที่ซ่อนอยู่ของเด็ก และให้การส่งเสริมเพื่อต่อยอดให้ความสามารถด้านนั้นพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ แนวทางการส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กปฐมวัย มีดังนี้ 1. “การลงมือทำ” เป็นการจัดกิจกรรมให้เด็กได้เป็นผู้ลงมือกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ การมองเห็น การฟังเสียง การสัมผัส การชิมรส และการดมกลิ่น เพราะข้อมูลที่เด็กได้รับผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้าน จะช่วยให้เด็กสามารถจดจำและทำความเข้าใจได้ดีขึ้น เช่น การทัศนศึกษา การทำงานศิลปะ งานสวน ทำอาหาร 2. “การสื่อสาร” เป็นการส่งเสริมให้ลูกได้มีโอกาสฝึกฝนและพัฒนาทักษะในการใช้ภาษาทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน เพื่อถ่ายทอดข้อมูล และสื่อสารอารมณ์ ความคิด และความรู้สึกทั้งของตนเองและผู้อื่นในระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเล่นบทบาทสมมติ การอ่านหนังสือ การแต่งนิทานจากจินตนาการและเล่าเรื่อง 3. “การเชื่อมโยง” เป็นการช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ทักษะทางวิชาการที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน เพราะการที่เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริง เด็กจะสามารถเข้าใจและเห็นถึงประโยชน์ของสิ่งนั้น ๆ ซึ่งเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมายที่แท้จริง เช่น การให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับซื้อของในร้านค้า เด็กจะได้เรียนรู้ตั้งแต่การสังเกตตัวเลขและตัวอักษร โดยอ่านรายการและจำนวนของสิ่งที่ต้องซื้อ อ่านราคาของสินค้า การสังเกตรู้ทรง สีสัน พื้นผิว การเปรียบเทียบความเหมือนและต่างของภาชนะสินค้าต่าง ๆ การจำแนกประเภทของผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ การชั่งน้ำหนัก วัดขนาด ตวงปริมาตรของอาหาร การจดจำทิศทางและคำนวณพื้นที่ของรถเข็นหรือตะกร้ากับสิ่งของที่ต้องซื้อ รวมทั้งการเรียนรู้เรื่องลักษณะของเงินและของค่าเงิน การบวกและลบราคาสินค้า เงินที่ต้องจ่าย และเงินทอน ที่มา Collaborative for Academic, Social, and Emotional Learning [CASEL]. (2016). Safe and sound: An educational leader’s guide to evidence-based Social and Emotional Learning [SEL] programs. Pennsylvania: Mid-Atlantic Regional Educational Laboratory. ผู้เขียน รังสิรัศม์ วงศ์อุปราช #GeniusXAlpha #BrainSkillDevelopment
ทำไมลูกถึง "โกหก"
“การโกหก” มีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพูดตรงข้ามความจริง พูดเกินความจริง แต่งเรื่องขึ้นใหม่ ไม่พูดบางอย่างหรือพูดไม่หมด โยนความผิด ฯลฯ บางครั้ง “การโกหกสีขาว” (White lies) ก็อาจจะจำเป็นสำหรับบางเหตุการณ์ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวย่อมส่งผลเสียไม่มากก็น้อย เด็กส่วนใหญ่ โกหกเพราะ “กลัว” จึงต้องโกหกเพื่อปกป้องตนเองจากการถูกลงโทษ เด็กบางคน อาจโกหกเพราะต้องการได้รับการยอมรับ ชื่นชม หรือรางวัลที่ตนเองต้องการ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการที่เด็กรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไม่มีใครรัก ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ได้รับความสนใจ ดังนั้นเด็กจึงต้องโกหกเพื่อให้ได้รับสิ่งเหล่านั้นมาเติมเต็มจิตใจ เมื่อเด็กโกหกบ่อย ๆ จะติดเป็นนิสัยและมีแนวโน้มจะติดตัวไปจนโต ดังนั้นการที่จะป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมการโกหกของเด็กจึงควรเริ่มต้นอย่างเร็วที่สุด โดยพ่อแม่สามารถช่วยเหลือได้ ดังนี้ เมื่อรู้แน่ชัดว่าเด็กทำผิด ไม่ควรเปิดโอกาสให้เด็กโกหก และไม่ควรช่วยเด็กโยนความผิด เช่น ถามว่า “ใครเป็นคนทำ” เพราะคำถามนี้อาจทำให้เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่กำลังต้องการหาคนผิดมาลงโทษ เด็กจะรู้สึกกลัวและปฏิเสธออกไป
หรือพ่อแม่บางคนอาจจะปกป้องเด็กมากเกินไป โดยช่วยเด็กแก้ตัวและโยนความผิดไปให้พ้นตัว ซึ่งเป็นการสร้างนิสัยโกหกให้ติดตัวเด็กต่อไปในอนาคต เมื่อเด็กทำผิด พ่อแม่ควรให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้ เพราะทุกคนย่อมทำผิดได้เสมอ และสิ่งที่ทุกคนต้องการก็คือ “โอกาสที่จะแก้ไข” เมื่อเด็กทำผิด พ่อแม่ไม่ควรโวยวาย ทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ ประจานหรือทำให้เด็กอับอายต่อหน้าคนอื่น
พ่อแม่ควรให้โอกาสเด็กได้อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น หากเด็กยังโกหกอยู่ พ่อแม่ก็ค่อย ๆ สอน เพราะการลงโทษจนเด็กเกิดความกลัวจะไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้ และไม่สามารถแก้ไขนิสัยขี้โกหกของเด็กได้เลย เมื่อเด็กกล้ายอมรับผิด พ่อแม่ก็ควรชื่นชม เพราะการที่เด็กคนหนึ่งจะลุกขึ้นยืนรับผิดของตนเองได้ต้องใช้ความกล้าอย่างมาก หลังจากนั้นจึงสะท้อนให้เด็กได้เห็นว่า การทำผิดและกล้ายอมรับผิดเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่โกหกปิดบังสิ่งที่เกิดขึ้น
และพ่อแม่ก็ต้องสอนให้เด็กกล้ายอมรับผลของการกระทำ และแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นให้ถูกต้องด้วยตนเอง เพราะการที่เด็กได้รับผลที่เกิดขึ้นจากความผิดของตนเอง จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และไม่ทำผิดพลาดอีกในครั้งต่อไป “การโกหก” แก้ได้เพียงรับฟังสิ่งที่ลูกพูด และช่วยกันแก้ไขปัญหา ด้วยความรัก ความใจเย็น และความใส่ใจที่มอบให้ลูกอย่างแท้จริง... ที่มา http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20171010123138.pdf ------------------------------- ตัวตนของลูกเป็นอย่างไร ? รู้จักลูกได้ง่าย ๆ "เพียง 7 นาที" #ทำแบบทดสอบวัดบุคลิกภาพ เพื่อค้นพบตัวตนของเด็ก ฟรี คลิกเลย : https://www.neurogenius.com/alpha